ข้อดีของการจัดฟัน
- เพื่อความสวยงามและเพื่อบุคลิกภาพที่ดีขึ้น ฟันดูสวยงาม ยิ้มสวยมากขึ้น ยิ่งในยุคนี้ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ล้วนแล้วแต่มีเกณฑ์การคัดเลือกในเรื่องของบุคลิกกันทั้งสิ้น ผู้ที่มีบุคลิกที่ดีกว่าย่อมมีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากกว่า การมีรอยยิ้มที่สวยงามจะทำให้เจ้าของรอยยิ้มมีบุคลิกที่ดี กล้าแสดงออก และมีเสน่ห์ ทำให้อยู่ในสภาวะสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ การจัดฟันจึงถือเป็นเรื่องที่น่าลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคุณ
- เพื่อให้ฟันทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการสบฟันที่ดีขึ้น และเคี้ยวอาหารได้ดีกว่าเดิม
- เพื่อสุขภาพที่ดีของช่องปากและฟัน เพราะหากมีปัญหาฟันซ้อนเก ฟันยื่น ฯลฯ จะทำให้การทำความสะอาดฟันเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และมักเกิดปัญหาฟันผุตามมา เมื่อจัดฟันให้เข้าที่เข้าทางแล้ว การทำความสะอาดก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้
- ช่วยลดการมีกลิ่นปาก เนื่องจากการแปรงฟันไม่สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ การจัดฟันอาจช่วยลดปัญหากลิ่นปากได้เป็นอย่างดี
- บางคนจัดฟันแล้วนิสัยรักษาความสะอาดและความมีระเบียบวินัยจะมีมากขึ้นจนติดเป็นนิสัย
- ในบางรายจัดแล้วโครงหน้าอาจเข้ารูปและดูดีมากขึ้น หรือหน้าดูเรียวมากขึ้น
- การจัดฟันเป็นแฟชั่นที่ทำแล้วดูไม่น่าเกลียด จัดแล้วดูน่ารัก และช่วยเพิ่มจุดเด่นให้คนอื่นจำเราได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
- ช่วยดัดนิสัยการรับประทานอาหารทางอ้อม จัดฟันแล้วนึกจะกินอะไรก็กินได้เลยเหมือนแต่ก่อนคงทำไม่ได้แล้ว
- ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องฟันห่างหรือฟันมีลักษณะการสบฟันหน้าแบบสบเปิด (กัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ขาด) หลังจัดฟันเสร็จแล้ว จะช่วยให้มีการออกเสียงพูดได้ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเสียง “ส.เสือ”
ข้อเสียของการจัดฟัน
- การจัดฟันไม่ว่าแบบถูกหรือแพง แต่ยังไงก็แพงอยู่ดี
- ในบางรายต้องถอนฟัน (สมบูรณ์) ออกไปหลายซี่
- ปากห้อยมากขึ้น (อมเหล็ก) ในช่วงแรก ๆ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่รูปปากของแต่ละคนด้วย
- เจ็บมาก เจ็บน้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดฟันที่เลือก แต่ยังไงก็เจ็บอยู่แล้ว จะเจ็บตอนถอนฟัน ดึงลวด หรือลวดบาดปากก็แล้วแต่กรณี
- ใช้เวลานานกว่าฟันจะเริ่มเข้าที่เข้าทางอย่างน้อยประมาณ 2 ปี
- ในขณะติดเครื่องมือจัดฟันจะทำความสะอาดฟันได้ยาก และเสี่ยงต่อฟันผุได้ถ้าไม่ดูแล
- อาหารอาจติดเหล็กจัดฟันได้บ่อย สำหรับผู้หญิงการพกกระจกติดตัวไว้ตลอดเวลาจะช่วยได้เยอะ
- พูดไม่ชัดบ้างในระยะแรกหลังการจัดฟัน
- ในกรณีที่จัดฟันด้านนอกแบบธรรมดา หลังแกะเครื่องมือออก ผิวฟันอาจไม่เรียบ
- ตอนใส่รีเทนเนอร์ อาจจะน่ารำคาญสุด ๆ สำหรับบางคน ไม่ใส่นาน ๆ ก็ไม่ได้ เพราะฟันจะเคลื่อน ฟันห่างหรือล้ม ไม่แข็งแรง แค่ไม่ใส่วันสองวัน มาใส่อีกทีก็เจ็บจะแย่แล้ว บางคนกับถึงต้องจัดฟันใหม่อีกรอบก็มี
- บางทีมันก็เป๊ะเกินไป อย่างบางคนก่อนจัดฟัน มีฟันเกแบบเบี้ยวเสน่ห์ คนเห็นแล้วจำได้ แต่พอจัดเสร็จ ฟันเรียงสวยงาม คนกลับจำหน้าไม่ได้ นี่แหละเสน่ห์ที่หายไป
- บางรายอาจรู้สึกว่าฟันอ่อนแอมาก เคี้ยวอะไรแข็ง ๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม
- บางรายจัดฟันเสร็จแล้วหน้าดูตอบ
- ต้องไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
ขั้นตอนการจัดฟัน
- หลัก ๆ แล้วในขั้นตอนการจัดฟันทั่วไป ก่อนอื่นผู้เข้ารับบริการจะต้องทำการนัดหมายทันตแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาและวางแผนในการรักษา
- ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์แบบฟัน เพื่อบันทึกรายละเอียด ตรวจสภาพการสบฟัน และมีการเอกซเรย์ฟันเพื่อดูโครงสร้างของใบหน้าและขากรรไกร
- ตรวจฟันก่อนว่าจะต้องทำการรักษาฟันก่อนหรือไม่ เช่น ถอนฟัน อุดฟัน รักษาโรคเหงือก รากฟัน ฯลฯ เพราะจำเป็นต้องรักษาให้หายก่อนใส่เครื่องมือจัดฟัน ทั้งนี้เพื่อความแข็งแรงและเพื่อให้การจัดฟันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ฟังคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ และตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดฟันกับทันตแพทย์
- ทันตแพทย์จะติดเครื่องมือจัดฟันให้ ในช่วงแรกจะรู้สึกเจ็บบ้าง (ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดฟันด้วย) แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์
ใครบ้างที่ควรจัดฟัน
มีเพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่าคุณควรจัดฟันหรือไม่ โดยวิเคราะห์จากการวินิจฉัยด้วยประวัติการรักษาทางการแพทย์และทันตกรรม แบบพิมพ์ฟันของคุณ และภาพเอกซเรย์ แต่คุณอาจต้องเข้ารับการจัดฟัน หากคุณมีปัญหาดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีฟันบนยื่นออกมาข้างหน้ามาก
- ผู้ที่มีฟันล่างยื่นออกมาข้างหน้ามาก
- ฟันห่าง มีช่องว่างระหว่างฟันอันเกิดจากการหลุดของฟันหรือฟันที่ยังขึ้นไม่เต็ม
- ฟันซ้อนเก ฟันที่ขึ้นมามากเกินไปจนเกทับกัน
- ฟันกัดคร่อม โดยฟันบนไม่สามารถขบได้พอดีกับฟันล่าง มีลักษณะขบแบบไขว้
- ฟันกัดเบี้ยว จุดศูนย์กลางของฟันบนไม่ตรงกับฟันล่าง
- ฟันสบเปิด เมื่อขบฟันแล้วมีช่องว่างเปิดระหว่างฟันบนกับฟันล่าง
ระยะเวลาในการจัดฟัน
โดยปกติแล้วการจัดฟันจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง – 3 ปี แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานมากกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของฟันด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้จัดฟันด้วยเป็นสำคัญ ว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างเคร่งครัดเพียงใด มาพบทันตแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอหรือไม่ ในช่วงเข้ารับการรักษา ทันตแพทย์จะทำการนัดตรวจทุก 1 เดือน เพื่อปรับเครื่องมือ และตรวจผลการรักษาเป็นระยะ ๆ (สำหรับการจัดฟันแบบปกติ)
ต้องถอนฟันก่อนจัดฟันหรือไม่
การที่ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรถอนฟันหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับความผิดปกติของคนไข้แต่ละคนว่าสมควรจะถอนหรือไม่ ถ้าต้องถอนฟันจะต้องถอนกี่ซี่ และจะต้องถอนซี่ใดบ้าง ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องถอนฟันก่อนจัดฟันเสมอไป โดยจะมีกรณีไหนบ้างนั้นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยสภาพช่องปาก รูปร่างใบหน้า โครงสร้างกระดูกใบหน้า ฟิล์มเอกซเรย์ แบบหล่อปูนจำลองฟันอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจ
อายุกับการจัดฟัน
อายุเท่าไรจึงควรเริ่มจัดฟันได้ ? อีกหนึ่งคำถามที่ถามกันมากที่สุด จริง ๆ แล้วการจัดฟันไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าควรจะเริ่มจัดฟันได้เมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ แต่โดยทั่วไปแล้วการจัดฟันส่วนใหญ่มักจะเริ่มทำในเด็กที่มีฟันแท้ขึ้นเกือบครบ คือ ในช่วงอายุระหว่าง 10-14 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กกำลังมีการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างใบหน้ามากที่สุด ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตของคนไข้มาช่วยในการรักษาความผิดปกตินั้น แต่ในบางกรณีอาจจะต้องจัดฟันเร็วขึ้น เช่น ในเด็กที่มีความเคยชินที่ไม่ดีบางอย่าง เช่น ชอบดูดนิ้ว ลิ้นดุนฟัน กัดริมฝีปาก หายใจทางปาก แทะเล็บหรือกัดเล็บ เพราะนิสัยเหล่านี้จะมีผลต่อการเรียงตัวของฟันหรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรได้ ก็ควรจะเริ่มปรึกษาทันตแพทย์เพื่อแก้ไขอุปนิสัยที่ผิดปกติดังกล่าว ตั้งแต่ในระยะแรกที่ตรวจพบ
อายุมากแล้วจะจัดฟันได้หรือไม่ ? ปกติแล้วการจัดฟันสามารถทำได้เกือบทุกช่วงอายุ แต่การรักษาคนไข้ที่มีอายุมากแล้วหรือประมาณ 30 ปีขึ้นไปนั้น มักจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดฟันอย่างมาก เช่น โรคปริทันต์ ซึ่งเป็นโรคที่มักจะรุนแรงมากขึ้นตามช่วงอายุ คนไข้ที่เป็นโรคปริทันต์จะต้องรักษาให้หายเสียก่อนถึงจะทำการจัดฟันได้ นอกจากนี้ เมื่อคนไข้มีอายุมากขึ้นก็จะมีอัตราการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้น้อยกว่าคนที่มีอายุน้อย ซึ่งขบวนการการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการจัดฟัน สรุปก็คือ คนที่มีอายุมาก ๆ ยังสามารถจัดฟันได้อยู่ แต่คนไข้ต้องมีสุขภาพช่องปากที่ดี และระยะเวลาในการจัดฟันจะนานกว่าปกติ ส่วนในรายที่ต้องกระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรจะทำได้เฉพาะในเด็ก ส่วนในผู้ที่มีอายุมาก ๆ จะทำไม่ได้ครับ
จัดฟันราคาเท่าไร
การจัดฟันจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูงอยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยราคาการจัดฟันจะขึ้นอยู่กับวิธีการหรือเครื่องมือที่ใช้ และสถานที่หรือคลินิกที่รับจัดฟัน ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบหลายวิธี (จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป) แต่เราสามารถชำระเงินเป็นแบบผ่อนจ่ายได้ครับ เฉพาะค่าจัดฟัน ไม่รวมการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนในระหว่างการรักษานะครับ บางที่จ่ายเต็มก็มีส่วนลดด้วยครับ นอกจากนี้ราคายังขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละแห่งด้วยครับ ส่วนนี้ก็ต้องลองไปสอบถามกันเอง
สามารถจัดฟันได้ที่ใดบ้าง
คนไข้สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่คลินิก โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลของรัฐที่มีทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาทางทันตกรรมจัดฟันประจำอยู่
การดูแลตนเองในขณะจัดฟัน
ในระหว่างทำการจัดฟัน เราควรดูแลทำความสะอาดฟันและช่องปากให้ดีอยู่เสมอ และควรใช้แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ เนื่องจากฟันที่ถูกติดเครื่องมือหรืออุปกรณ์จะทำความสะอาดได้ยากกว่าเดิม เพราะอาจมีเศษอาหารเข้าไปติดตามร่องต่าง ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรงดรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารเหนียว ๆ อย่างหมากฝรั่งหรือตังเม อาหารแข็ง ๆ รวมไปถึงอาหารประเภทของหวาน เพราะอาจทำให้ฟันผุได้ง่าย
การจัดฟันด้านนอกแบบโลหะ
การจัดฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นด้านนอกแบบโลหะ (Metal Braces) เป็นวิธีการจัดฟันที่นิยมใช้กันมานาน ที่เห็นได้ทั่วไป หรือที่ชอบเรียกว่า “การจัดฟันวัยรุ่น” ซึ่งเป็นการจัดฟันโดยการติดเครื่องมือแบบโลหะไว้ที่ผิวด้านหน้าของฟัน แล้วใส่ลวดผ่านร่อง Bracket และใช้ยาง O-Ring รัดตัวเครื่องมือจัดฟันให้ติดกับลวดจัดฟัน เพื่อช่วยเลื่อนตัวฟันและเรียงฟันให้สวยงาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขนาดของวัสดุที่ใช้ให้มีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ความรู้สึกสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นการจัดฟันแบบติดแน่นโดยใช้เหล็กจัดฟันสีเงินติดด้านหน้าของผิวฟัน เพื่อเป็นตัวช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนตัวของฟัน และสามารถเรียงฟันให้สวยพร้อมทั้งสร้างการสบฟันที่ถูกต้องได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น